ReadyPlanet.com
dot dot
bulletพระที่นั่งพิมานจักรี
bulletพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
bulletพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส
bulletพระที่นั่งเทวราชสภารมย์
bulletพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์
bulletพระตำหนักเมขลารูจี
bulletอาคารเทียบรถพระที่นั่ง
bulletสวนโรมัน
bulletศาลท้าวหิรัญพนาสูร
bulletพระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช
bulletนามสกุลพระราชทาน
ชมพระราชวัง 360 องศา




ดุสิตธานี article

พระตำหนักเรือนต้น

 

 

 

 

 พระตำหนักเรือนต้น

 

 

ทิวทัศน์ดุสิตธานี อาคารใหญ่ทางมุมซ้ายบนคือโฮเต็ลเมโตรโปลที่ทวยนาครเข้าไปได้จริงๆ

 

 

 

 

 

 

 

 พระราชวังวัชรินทรราชนิเวศน์ ริมลำน้ำดุสิต อาคารส่วนใหญ่จำลองมาจากพระบรมมหาราชวัง

 นครศาลาของดุสิตธานี

 

 

 

ดุสิตธานี

      พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ครองราชย์เพียง ๑๕ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๘) ในช่วงเวลาอันสั้นนี้ พระองค์ทรงทำคุณประโยชน์ในด้านต่างๆให้เเก่ ประเทศอย่างใหญ่หลวง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้เสด็จไปศึกษาต่างประเทศ  

      เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสืบทอดพระราชภาระกิจต่อจากพระบรมราชชนกผู้ทรงอยู่ในราชสมบัติยาวนาน อีกทั้งพระราชกรณียกิจอันเป็นพระราชดำริในพระองค์อีกมากมาย พระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าฯ ทรงก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ โปรดเกล้าฯให้มีการใช้นามสกุลเป็นครั้งแรก ทรงสร้างสำนึกร่วมในชาตินิยม และได้พระราชทานธงชาติซึ่งยังคงใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งทางด้านการประพันธ์ พระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่านมีมากมายหลายประเภท ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง บทละคร บทละครแปลจากเชคสเปียร์ บทความ ปลุกใจ และอื่นๆ อีกหลากหลาย พระราชกรณียกิจชิ้นสำคัญของพระองค์ท่าน ซึ่งมักจะไม่ได้รับการกล่าวถึงในหน้าประวัติศาสตร์ และเกือบจะลืมเลือนไปสำหรับคนสมัยนี้ ก็คือเมืองจำลองซึ่งโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า ดุสิตธานี หรือเมืองสวรรค์ ซึ่งนักเขียนพระราชประวัติผู้หนึ่งวิจารณ์ว่า “เป็นความคิดทางการเมืองที่แปลกที่สุดในโลก”

      พระราชดำริในเรื่องนี้อาจ เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๘ เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร และประทับที่พระตำหนักจิตรลดา ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดเรือนแถวสำหรับพวกมหาดเล็ก และทรงทดลองการปกครองระบบนคราภิบาลหลายรูปแบบ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อเสด็จไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบทที่หาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี และในโอกาสที่ทรงสำราญพระราชหฤทัยร่วมกับข้าราชบริพารก่อสร้างเมืองทราย และมีพระราชดำริสร้างเมืองจำลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพ ฯ

      เมืองดุสิตธานีถือกำเนิด ที่พระราชวังสวนดุสิต อีกหนึ่งปีต่อมาเมื่อทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังพญาไท ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงโปรดเกล้าฯให้ย้ายเมืองดุสิตธานีมาตั้งบริเวณสวนหลังหมู่พระที่นั่งครอบ คลุมพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ครึ่ง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆในธานีมีขนาดสูง ๒-๓ ฟุต ประกอบด้วย บ้านเรือนเอกชนพระราชวัง ศาสนสถาน และอนุสาวรีย์ สถานที่ราชการโรงทหาร ร้านค้า โรงพยาบาล ตลาด โรงแรม ธนาคาร สถานประกอบธุรกิจต่าง ๆ ทั้งมีถนน หนทางร่มรื่น แม่น้ำคูคลอง มีทั้งสวนสาธารณะ ชุ่มชื่นด้วยน้ำพุ และน้ำตก อีกทั้งกองดับเพลิง และ บริษัทไฟฟ้า ในเมืองดุสิตธานีมีงานรื่นเริงและงานพิธีเป็นประจำ อีกทั้งการแข่งเรือในแม่น้ำเกือบทุกคืน เวลาที่นี่กำหนดมาตรา ๑ ต่อ ๑๒ คือหนึ่งเดือนเท่ากับ ๑ ปีสากล

      อาคารบ้านเรือนในเมืองจำลองนี้สร้างอย่างประณีต มีลวดลายละเอีบดงดงาม และมีแบบแปลกแตกต่างกันไปทั้งแบบยุโรป ไทย มัวร์ แล้วแต่รสนิยมของ ผู้เป็นเจ้าของ เช่นบ้านหลังหนึ่งมีโดมแบบมัวร์ หน้าต่างและประตูโค้งรับกัน หลังหนึ่งมีสวนแบบโมกุลพร้อมด้วยน้ำพุในสระตามแบบแผน อีกหลังหนึ่งสร้างบนเนินเขาเป็นแบบสวิสซาเล่ แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือเจดีย์ ซึ่งสร้างแบบปรางค์ขอมบนฐานช้างล้อม

      พระราชวังวัชรินทร์งดงาม แบบไทยแท้ ล้อมรอบด้วยคูน้ำ ทวยนาครหรือพลเมืองดุสิตธานี ส่วนใหญ่เป็นพวกข้าราชบริพารและพระสหายใกล้ชิด หรือข้าราชการพลเรือน ทรงอนุญาตให้แต่ละคนเลือกแบบก่อสร้างตามใจชอบ ซึ่งต่างก็แข่งขันกันสนองพระราชประสงค์ให้เป็นหลังที่สวยงามที่สุด

      ทว่าดุสิตธานี เมืองที่สว่างไสวด้วยไฟฟ้า และถนนหนทางที่คับคั่งไปด้วยผู้คนสมมติ ไม่ได้เป็นแค่ของเล่นของผู้ใหญ่ เป็นเมืองในนิยายดังเช่นบางคนในหมู่ข้าราชบริพารเคยชอบเอ่ยอ้าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงตั้งพระทัยให้เป็นเมืองตัวอย่างในหลาย ๆด้าน ดังพระราชดำรัสในวันเปิดศาลารัฐบาลเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๖๒ ว่า “วิธีการดำเนินการในธานีเล็กๆของเราเป็นเช่นไร ก็ได้ตั้งใจว่าจะให้ประเทศสยามได้ทำเช่นกัน ”

      พระองค์ท่านทรงร่างธรรมนูญลักษณะปกครอง คำในอารัมภบท แสดงชัดถึงพระราชเจตนารมย์ว่าก่อตั้งเมืองดุสิตธานีเพื่อส่งเสริมความคิดใน เรื่องการปกครองตนเองให้มีขึ้นในราษฎรไทย บรรดาทวยนาครกว่า 200 คน ทั้งหญิงและชาย มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งนคราภิบาล ตำแหน่งซึ่งทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงก็สามารถเป็นได้หากมีทวยนาครอื่นรับรอง อีกหนึ่งคน นคราภิบาล มีอำนาจแต่งตั้งคณะนคราภิบาล ประกอบด้วย เจ้าพนักงานการคลังเจ้าพนักงานโยธา ผู้รักษาความสะดวกของประชาชน และคณะนคราภิบาลจะเลือกตั้งสภาเลขาธิการ มีหน้าที่ดำเนินการด้านงานประจำของคณะนคราภิบาล เมืองดุสิตธานีแบ่งออกเป็น ๖ เขตการปกครองแต่ละเขตจะเลือกเชษฐบุรุษหนึ่งคนเป็นตัวแทนในคณะนคราภิบาล

      นอกจากนี้พระองค์โปรดเกล้าฯให้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นสองพรรค พรรคแถบน้ำเงินทรงเป็นหัวหน้าพรรค และพรรคแถบสีแดง นำโดยข้าราชบริพารท่านหนึ่ง ในสองปีแรกของเวลาดุสิตธานี มีการเลือกตั้ง ๗ ครั้งด้วยกัน และทุกสองปีจะมีการประกวดและให้รางวัลบ้านที่ได้มีการดูเเลรักษาดีเยี่ยม

ประกาศนียบัตรเคหะสถานดุสิตธานี เพื่อส่งเสริมให้รู้จักดูแลบ้านเรือน


ภาพคลองมิ่งเมืองที่กั้นเขตระหว่าง อำเภอดุสิตทางขวา และคลองปากน้ำทางซ้ายมือ

  

 

     ดุสิตธานีออกหนังสือพิมพ์รายวันสองฉบับ และรายสัปดาห์ หนึ่งฉบับ เนื่องด้วยพระองค์ท่านทรงห่วงใยและทรงตระหนักในพระทัยว่ามาตรฐาน การหนังสือพิมพ์ของ ไทยยังต้องปรับปรุง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่พระองค์ท่านทรงเอาพระทัยใส่หนังสือพิมพ์ของดุสิต ธานีเป็นพิเศษและทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการองค์หนึ่งของหนังสือพิมพ์ดุสิต สมิต ซึ่งมีขนาด ๑๒ หน้า ประกอบด้วยบทความกวีนิพนธ์ และภาพวาด ทั้งยังทรงมีพระราชนิพนธ์ลงพิมพ์ด้วยอย่างสม่ำเสมอ เช่น เรื่อง หัวใจชายหนุ่ม ซึ่งแสดงความรู้สึกนึกคิดของหนุ่มไทยคนหนึ่งที่กลับมาบ้านเกิดเมืองนอน หลังจากได้ไปศึกษาต่างประเทศเป็นเวลานาน ทรงนิพนธ์เป็นเรื่องยาวถึง ๑๐ ตอน ลงในหนังสือดุสิตสมิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐

      บุคคลนอกวงการบางคนที่ทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานธรรมนูญลักษณะปกครองสำหรับเมืองดุสิตธานี เริ่มมีกำลังใจและคาดหวังว่าพระองค์จะทรงมีแนวคิดเดียวกันในระดับชาติ แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจะมีพระราชดำริโน้มเอียงในทางประชาธิปไตย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หัวโบราณยังยืนกรานไม่เห็นชอบด้วย เสนาบดีท่านหนึ่งทูลเกล้าฯถวายความเห็นว่า “พลเมืองยังขาดความรู้ความเข้าใจ... ผู้ที่ต้องการให้มีรัฐสภาคิดได้แต่ประโยชน์ของตนเองยิ่งกว่าประโยชน์ของบ้าน เมือง”

      แม้ในแวดวงของดุสิตธานี ก็มีปัญหาในการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงพยายามเป็นพลเมืองธรรมดาๆคนหนึ่ง โดยใช้ชื่อ นายราม ณ กรุงเทพ มีอาชีพเป็นเนติบัณฑิต ทวยนาครทั้งหลายไม่อาจเล่นบทตามพระองค์ท่านได้จึงต้องถวายตำแหน่งเชษฐบุรุษ พิเศษยกให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล เมืองดุสิตธานียุติบทบาทเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่อพระชนฉายเพียง ๔๔ ปี เมืองจำลองถูกรื้อถอน อาคารบ้านเรือนหลายหลังเจ้าของขนย้ายออกไป ส่วนที่เหลือก็ปล่อยให้ขึ้นราอยู่ในห้องเก็บของ

      ที่หอวชิราวุธานุสรณ์ในบริเวณ หอสมุดแห่งชาติอาคาร แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงสิ่งของต่าง ๆในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะ ที่นี่มีอาคารจากดุสิตธานีที่ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์สองสามหลังพร้อม ด้วยภาพถ่ายจากสมัยนั้นที่พอจะจินตนาการได้ว่าอาณาบริเวณและมนต์เสน่ห์ของ โลกเมื่อเกือบหนึ่งศตวรรตมาแล้วเป็นเช่นไร

 


 

 

 

 

 

 

 

 

        พระตำหนักเฟต์ราบานี 

 เรือนมหิธร เรือนพักอาศัยของ สกุล“ไกรฤกษ์” ในเมืองดุสิตธานี

เจดีย์ช้างล้อม


      หอนาฬิกาในอำเภอดุสิต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บ้านคหบดีที่อำเภอเขาหลวง

ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแปลกๆ

 

พระที่นั่งสถานชโลธร  

 

 

โฮเต็ลเมโตรโปลที่อำเภอบางไทร ประกอบด้วยอาคารย่อส่วน ๑๒ หลัง

อยู่ไม่ห่างจากโฮเต็ลเมโตรโปลใหญ่

 




พระราชวังพญาไท (โชว์หน้าแรก)

นามสกุลพระราชทาน article